Hyperconverged Infrastructure คืออะไร ?
ในยุคดิจิทัลที่การทำงาน และการจัดการข้อมูลต้องอาศัยความรวดเร็ว และความยืดหยุ่นสูง Hyperconverged Infrastructure (HCI) ได้กลายมาเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันมากที่สุดในวงการ IT ด้วยความสามารถในการผสมผสานกันระหว่างการประมวลผล, การจัดเก็บข้อมูล และการเชื่อมต่อเครือข่ายไว้ในแพลตฟอร์มเดียวช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถบริหารจัดการทรัพยากร IT ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และในบทความนี้จะพาทุกคนไปสำรวจความหมายของ HCI ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงหลักการทำงาน ความสำคัญ ประโยชน์ ข้อเสียเปรียบ และกรณีตัวอย่างที่องค์กรนำเอา HCI มาใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันบนตลาดดิจิทัลที่ไม่หยุดนิ่ง
ระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบ Hyperconverged คืออะไร ? (What is a Hyperconverged Infrastructure ?)
Hyperconverged Infrastructure (HCI) หรือที่เรียกกันว่า ระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบ Hyper-Converged คือสถาปัตยกรรมทาง IT ที่เน้นการใช้ซอฟต์แวร์เป็นหลัก โดยการผสานทรัพยากรการประมวลผล, การจัดเก็บข้อมูล และ การจำลองเสมือน (Virtualization) เข้าไว้ในระบบเดียวกัน
ในธุรกิจสมัยใหม่จะต้องอาศัย ศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในการประมวล และจัดเก็บข้อมูล ดังนั้นเครือข่ายศูนย์ข้อมูลจึงมีความสำคัญ อย่างไรก็ตามศูนย์ข้อมูลเป็นสถานที่ที่มีความซับซ้อน ผู้ให้บริการหลายรายแข่งขันกันในการนำเสนออุปกรณ์, ระบบ, บริการ และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ทำให้ระบบที่มีความหลากหลายมากขึ้นไปอีก สร้างปัญหาในการทำงานร่วมกัน และอาจส่งมอบประสิทธิภาพที่ไม่ดีนัก
ต่อมาแนวคิดเรื่องการบูรณาการ (Convergence) ก็เกิดขึ้นเพื่อลดความซับซ้อนของระบบ โดยเริ่มจากการรวมเอาระบบ และซอฟต์แวร์จากผู้จำหน่ายต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นชุดอุปกรณ์ที่ปรับแต่งแล้วซึ่งเรียกว่า Converged Infrastructure (CI) และก็ได้มีการพัฒนาต่อไปสู่การออกแบบ และผลิตอุปกรณ์ที่รวมการประมวลผล, การจัดเก็บข้อมูล และเครือข่ายไว้ในระบบเดียว ซึ่งนี่เป็นจุดกำเนิดของ Hyperconverged Infrastructure
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Hyper-converged_infrastructure#/media/File:Hyperconvergence.jpg
ซึ่งระบบ Converged และ Hyperconverged ก็เกิดจากการผสมผสานเทคโนโลยีการจำลองเสมือน (Virtualization) และการจัดการแบบรวมศูนย์ (Unified Management) โดยการจำลองเสมือนทำให้ทรัพยากรประมวลผล, จัดเก็บข้อมูล และเครือข่าย ถูกจัดการจากส่วนกลางได้ง่ายมากขึ้น ส่วนการจัดการแบบรวมศูนย์ช่วยให้ทรัพยากรทั้งหมดถูกค้นหา, จัดกลุ่ม และแบ่งตามระดับประสิทธิภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต่างจากศูนย์ข้อมูลแบบดั้งเดิมที่มักต้องใช้เครื่องมือหลายชนิดในการจัดการทรัพยากร
ระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบ Hyperconverged ทำงานอย่างไร ? (How does Hyperconverged Infrastructure work ?)
HCI ถูกสร้างขึ้นบนหลักการสำคัญสองประการ ซึ่งก็คือการบูรณาการ (Integration) และการจัดการ (Management) เพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่สำคัญสองข้อในศูนย์ข้อมูลแบบดั้งเดิม คือประสิทธิภาพที่ไม่เต็มที่ และการจัดการระบบที่ค่อนข้างยุ่งยาก จุดมุ่งหมายของ HCI คือการให้บริการทรัพยากรการประมวลผล, การจัดเก็บข้อมูล และเครือข่าย ที่สามารถขยายตัวได้ และทั้งหมดสามารถถูกค้นหาจัดการได้ผ่านหน้าจอการจัดการเพียงหน้าจอเดียว
ภาพจาก : http://www.wz14stu.com/hyperconverged-infrastructure-4.html
นอกเหนือจากหลักการพื้นฐานแล้ว ยังมีความหลากหลายทั้งแนวทาง และตัวเลือกที่มากมายในเทคโนโลยี HCI ที่ควรรู้จัก การทำความเข้าใจในเทคโนโลยีที่ HCI พบได้บ่อย ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีตัวอย่างดังนี้
HCI กับการใช้งานบนซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์
HCI สามารถนำไปใช้ได้ทั้งฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์
การติดตั้งผ่านฮาร์ดแวร์
HCI เริ่มต้นจากการเป็นแพลตฟอร์มฮาร์ดแวร์ที่รวมทรัพยากรต่าง ๆ ไว้ในอุปกรณ์เดียว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และให้การบูรณาการสูง เหมาะสำหรับงานที่ต้องการประสิทธิภาพสูง และการขยายตัวของฮาร์ดแวร์ในอนาคต อย่างไรก็ตาม HCI แบบฮาร์ดแวร์มักผูกขาดกับผู้จำหน่าย ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง และเสี่ยงต่อการถูกล็อกอยู่กับผู้จำหน่ายรายเดียว ตัวอย่างของ HCI แบบฮาร์ดแวร์ ได้แก่ Dell EMC VxRack System Flex และ HPE SimpliVity 380 และ 2600
ภาพจาก : https://www.dell.com/en-us/shop/ipovw/vmware-vxrack
การติดตั้งผ่านซอฟต์แวร์
HCI สามารถนำไปใช้เป็นชั้นซอฟต์แวร์ที่ทำงานบนฮาร์ดแวร์ที่มีอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนในฮาร์ดแวร์ใหม่ ทำให้ธุรกิจได้รับประโยชน์จาก HCI โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง แต่ก็ถูกจำกัดด้วยฮาร์ดแวร์ที่มีอยู่เดิมอาจไม่ได้รับการบูรณาการ และปรับแต่งอย่างเต็มที่เหมือน HCI ที่ใช้ฮาร์ดแวร์เฉพาะ และการใช้ HCI ผ่านซอฟต์แวร์อาจทำให้โครงสร้างระบบซับซ้อนขึ้น ต้องการการดูแลเพิ่มเติม ตัวอย่างซอฟต์แวร์ HCI ได้แก่ VMware vSAN, Nutanix Acropolis, Microsoft’s Azure Stack และ OpenStack
HCL แบบ บูรณาการ (Integrated) และ แยกส่วน (Disaggregated)
Integrated HCI
เป็นช่วงแรก ๆ ของเทคโนโลยี HCI หรือเรียกในเชิงเวอร์ชันว่าเป็น HCI 1.0 แนวทางนี้รวมทรัพยากรการประมวลผล (CPU, หน่วยความจำ, การจัดเก็บข้อมูล) ไว้ในอุปกรณ์เดียวที่เรียกว่า “Node” ซึ่งแต่ละ Node สามารถเพิ่มเข้าไปในระบบเพื่อขยายขนาดได้ แต่ข้อเสียคือถ้าทรัพยากรใน Node ใดขาดแคลน เช่น CPU จะต้องเพิ่ม Node ใหม่ทั้งหมด แม้ว่าอาจยังไม่ต้องการหน่วยความจำ หรือพื้นที่จัดเก็บเพิ่มเติม ซึ่งทำให้เกิดการลงทุนเสียเงินเพิ่มที่ไม่จำเป็น
ภาพจาก : https://www.researchgate.net/figure/Hyper-Converged-Infrastructure-30_fig3_344553196
Disaggregated HCI
ได้รับการพัฒนามาอีกขั้นเรียกได้เป็น HCI 2.0 ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่แยกทรัพยากรออกเป็นโมดูลต่าง ๆ เช่น การประมวลผล และหน่วยความจำอยู่ในกล่องเดียว ส่วนการจัดเก็บข้อมูลอยู่ในกล่องแยกกัน โมดูลเหล่านี้เชื่อมต่อกันผ่านเครือข่าย แนวทางนี้ให้ความยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยให้ธุรกิจลงทุนในทรัพยากรที่จำเป็นต่อการทำงานมากที่สุด ตัวอย่างของ dHCI เช่น Dell PowerFlex, Datrium DVX, NetApp HCI และ HPE Alletra
ภาพจาก : https://blogs.vmware.com/virtualblocks/2017/05/04/hpe-synergy-first-composable-infrastructure-now-certified-vsan/
แนวทางการปรับใช้ ระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบ Hyperconverged (Hyperconverged Infrastructure Deployment Guidelines)
Full Replacement
เปลี่ยนสภาพแวดล้อมดั้งเดิมทั้งหมดให้เป็น HCI ซึ่งเป็นทางเลือกที่มีต้นทุนสูง และอาจก่อให้เกิดการแทนที่ฮาร์ดแวร์มากที่สุด มักใช้ในโครงการใหม่ หรือการสร้างศูนย์ข้อมูลสำรอง แต่ไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับองค์กรส่วนใหญ่เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่มาก และการเกิดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
Side-by-Side
ติดตั้ง HCI ควบคู่กับโครงสร้างพื้นฐานเดิมในศูนย์ข้อมูล วิธีนี้ช่วยให้สามารถย้ายงานไปยัง HCI ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ฮาร์ดแวร์ที่ถูกแทนที่สามารถนำไปใช้ใหม่ หรือนำออกไปทีละส่วน ๆ เป็นวิธีที่นิยมเพราะลดความซับซ้อนในการเปลี่ยนผ่าน ทำให้ HCI และโครงสร้างพื้นฐานเดิมทำงานร่วมกันได้อย่างดี
Per-Application
ใช้ HCI สำหรับแอปพลิเคชันหรือโครงการใหม่เท่านั้น เช่น การติดตั้ง โครงสร้างพื้นฐานเดสก์ท็อปเสมือน (Virtual Desktop Infrastructure – VDI) หรือ การวิเคราะห์ ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) โดยไม่กระทบกับงานเดิมที่ยังคงทำงานบนโครงสร้างพื้นฐานเดิม วิธีนี้ช่วยให้สามารถนำ HCI มาใช้ได้โดยไม่ต้องย้ายงานเดิมออกไปทั้งหมด
ระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบ Infrastructure สำคัญอย่างไร ? (Why is Hhyperconvergence Infrastructure important ?)
ในศูนย์ข้อมูล จะมีสองแนวทางหลักในการเลือกโครงสร้างพื้นฐาน ความเป็นเอกภาพ (Homogeneity) และ ความหลากหลาย (Heterogeneity) ศูนย์ข้อมูลแบบเอกภาพจะใช้ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์จากผู้จำหน่ายเดียว ส่งผลให้การจัดการง่ายขึ้น แต่ก็อาจมีข้อเสียอยู่ก็คือ ถูกล็อกไว้กับผู้จำหน่ายรายนั้น ขณะที่ศูนย์ข้อมูลแบบหลากหลายเปิดโอกาสให้เลือกอุปกรณ์ และซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะงานได้ แต่การจัดการจะซับซ้อน ต้องใช้เวลา และความเชี่ยวชาญในการบูรณาการปรับแต่งระบบให้ทำงานร่วมกันได้
ภาพจาก : https://wan-dubai.com/server-installation/index.html
HCI ตอบโจทย์ด้วยการรวมทรัพยากรการประมวลผล, การจัดเก็บข้อมูล และเครือข่ายไว้ในแพลตฟอร์มเดียวที่จัดการง่าย และขยายขนาดได้ตามต้องการ ทำให้เหมาะกับทั้งศูนย์ข้อมูลหลัก และการใช้งานในสำนักงานสาขาย่อย หรือ การประมวลผลแบบเอดจ์ (Edge Computing) เป็นต้น
ภาพจาก : https://www.cisco.com/c/dam/global/en_in/products/hyperconverged-infrastructure/deploy-hyperconvergence-anywhere.pdf
ตัวอย่างเช่น ในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ที่เกิดจาก อุปกรณ์ IoT จำนวนมาก HCI สามารถติดตั้งเทคโนโลยี Edge Computing เพื่อการประมวลผลข้อมูลก่อนส่งผลลัพธ์กลับไปยังศูนย์ข้อมูลหลัก ลดความแออัดของเครือข่าย อีกตัวอย่างคือการใช้ HCI ในการสร้างคลาวด์ส่วนตัวหรือ ไฮบริดคลาวด์ ซึ่งทำได้ง่ายด้วยการติดตั้ง HCI เป็น “ศูนย์ข้อมูลในกล่อง (Data Center in a Box)” ที่พร้อมใช้งานทันที และขยายสู่คลาวด์สาธารณะตามต้องการ
ประโยชน์ของ ระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบ Hyperconverged (Benefits of Hyperconverged Infrastructure)
1. ความเรียบง่ายของฮาร์ดแวร์
HCI มีความง่ายในการติดตั้ง และปรับการใช้งาน ด้วยการออกแบบแบบโมดูล ที่ช่วยลดเวลาในการติดตั้งระบบ เมื่อจำเป็นต้องเพิ่มทรัพยากรก็สามารถเพิ่ม Node ใหม่ได้ง่าย ๆ ซึ่งช่วยลดปัญหาการบูรณาการ และการปรับแต่งระบบ
ภาพจาก : https://docs.netapp.com/us-en/hci/docs/task_hci_getstarted.html#prepare-for-installation
2. การจัดการระบบที่ดีกว่า
HCI มีแพลตฟอร์มการจัดการแบบรวมศูนย์ (Centralized) ที่ทำให้ทรัพยากรทั้งหมดถูกค้นหา, จัดกลุ่ม และจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสนับสนุนการทำงานอัตโนมัติในการจัดสรร และบำรุงรักษาระบบ ทำให้ HCI เหมาะกับโครงการ IT ที่ต้องการการทำงานอัตโนมัติ เช่น คลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud) หรือ VDI เป็นต้น
ภาพจาก : https://learn.microsoft.com/en-us/azure-stack/hci/overview
3. การสนับสนุนที่ดีกว่า
การติดตั้ง HCI ง่าย และรวดเร็วกว่าระบบแบบเดิม อีกทั้งการสนับสนุนจากผู้ให้บริการ ช่วยให้แก้ไขปัญหาได้ง่าย และรวดเร็ว ซึ่งเหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีทีม IT ขนาดเล็ก และทักษะทางเทคนิคน้อยกว่าองค์กรใหญ่ ๆ
ภาพจาก : https://www.ruletech.com.au/general-blog/benefits-of-server-maintenance/
4. การจัดการต้นทุนที่ดีขึ้น
แม้ว่า HCI อาจไม่ถูกกว่าระบบแบบเดิม แต่ HCI ช่วยให้มั่นใจว่าการใช้จ่ายด้าน IT นั้นคุ้มค่า และตรงกับความต้องการที่ตั้งไว้ โดยเทคโนโลยี Disaggregated ช่วยให้การใช้จ่ายเพิ่มเติมน้้น ตรงกับทรัพยากรที่ต้องการ โดยไม่สิ้นเปลืองกับทรัพยากรที่ไม่จำเป็น
ข้อดี-ข้อเสียของ ระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบ Hyperconverged (Hyperconverged Infrastructure Pros and Cons)
ข้อดีของ Hyperconverged Infrastructure
HCI สามารถรองรับการใช้งานด้านคอมพิวเตอร์ในองค์กรได้หลากหลายวิธี รวมถึงงานทั่วไป ซึ่งมีประโยชน์ด้านการใช้งานที่สำคัญดังต่อไปนี้
บริการแบบรวมศูนย์ (Centralized Services)
เหมาะสำหรับการให้บริการเดสก์ท็อประยะไกล เช่น VDI (โครงสร้างพื้นฐานเดสก์ท็อปเสมือน) และ Desktop as a Service ซึ่งต้องการการประมวลผล และการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูง
โครงการคลาวด์ (Cloud Initiatives)
HCI สามารถใช้เป็นโซลูชันคลาวด์สำเร็จรูปได้ ซึ่งหมายความว่ามันสามารถใช้งานเป็นคลาวด์ส่วนตัว หรือผสานกับคลาวด์สาธารณะเพื่อสร้างเป็นไฮบริดคลาวด์
การปกป้องข้อมูล (Data Protection)
HCI มีฟีเจอร์ด้านการปกป้องข้อมูล เช่น การสำรองข้อมูล, สแน็ปช็อต, การกู้คืนจากภัยพิบัติ และการรักษาความปลอดภัยข้อมูล
ฐานข้อมูล (Database)
HCI เหมาะสำหรับงานที่ต้องการประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือสูง เช่น ฐานข้อมูลที่ต้องรองรับการเข้าถึง และการทำงานของแอปพลิเคชันหลายตัว
การประมวลผลแบบเอดจ์ (Edge Computing)
เหมาะสำหรับการประมวลผลข้อมูลปริมาณมากอาศัยประโยชน์จาก เทคโนโลยี IoT โดยไม่ต้องพึ่งพาการแทรกแซงของมนุษย์มากนัก
การจัดเก็บไฟล์ (File Storage)
HCI เหมาะสำหรับงานจัดเก็บไฟล์ หรือไฟล์เซิร์ฟเวอร์ เนื่องจากมีความสามารถในการปกป้องข้อมูล และรองรับพื้นที่จัดเก็บขนาดใหญ่
การวิเคราะห์ และการล็อกข้อมูล (Logging And Analytics)
เหมาะสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลที่ต้องการประสิทธิภาพการประมวลผลสูง และรองรับความเร็วของข้อมูลที่สูง
การทดสอบ และพัฒนา (Test And Development)
HCI ทำให้สามารถจัดการทรัพยากรได้ดี เหมาะสำหรับการพัฒนา และทดสอบซอฟต์แวร์ ช่วยให้นักพัฒนาสามารถจัดสรร และปล่อยทรัพยากรได้ตามที่ใจต้องการ
ข้อเสียของ Hyperconverged Infrastructure
แม้ว่า HCI จะมีประโยชน์มากมาย แต่มันก็ยังมีข้อเสียที่ควรให้พิจารณาอยู่ดังนี้
การผูกขาดจากผู้จำหน่าย
การขยายระบบ HCI มักทำได้ง่าย แต่จะต้องใช้ฮาร์ดแวร์จากผู้จำหน่ายเดียวกันเท่านั้น ทำให้เกิดการผูกขาดของผู้จำหน่าย นอกจากนี้ HCI 1.0 รวม หน่วยประมวลผลกลาง (CPU), หน่วยความจำหลัก (RAM) และการจัดเก็บข้อมูลไว้ใน Node เดียว การเพิ่มทรัพยากรหนึ่งอาจต้องซื้อทรัพยากรอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นด้วย ซึ่งอาจทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากร และเงินลงทุนมาก
ความต้องการพลังงาน และการระบายความร้อนสูง
HCI มีความหนาแน่นของพลังงานสูง การรวมฮาร์ดแวร์จำนวนมากในพื้นที่เล็ก ๆ อาจทำให้ระบบการกระจายพลังงาน และการระบายความร้อนในศูนย์ข้อมูลมีปัญหา
การขยาย และความเสถียรที่จำกัด
HCI มีขนาดการขยายที่ยังเล็กถ้าเปรียบเทียบสำหรับงานที่ต้องใช้เซิร์ฟเวอร์มาก ๆ แต่การแยกย่อยงานออกเป็นส่วน ๆ HCI ก็จะเหมาะสมกว่า เพราะเนื่องจากสามารถปรับแต่ง และขยายได้ตามต้องการ
ฟีเจอร์ไม่ครบถ้วน
บางฟีเจอร์ขั้นสูง เช่น ความพร้อมใช้งานสูง (High Availability) อาจต้องซื้อเพิ่มเติม และการรองรับการทำงานร่วมกันกับคลาวด์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการทดสอบ และพิสูจน์ให้ดีก่อน
ต้นทุนสูง
HCI มักมีต้นทุนสูง เนื่องจากมีความผูกขาดของผู้จำหน่าย แต่ละ Node ที่รวมทรัพยากรอาจมีค่าใช้จ่ายสูงในการซื้อซอฟต์แวร์ และสัญญาการบำรุงรักษา การเลือก Node ที่มีฟีเจอร์ขั้นสูง เช่น CPU ระดับสูง, พื้นที่จัดเก็บข้อมูลแบบ Non-Volatile หรือการเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ก็อาจทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นไปอีก
อนาคตของ Hyperconverged Infrastructure (Future of Hyperconverged Infrastructure)
เทคโนโลยี HCI กำลังมีการพัฒนาเพื่อตอบสนองการใช้งานใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการใช้ใน เทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้าง เดสก์ท็อปเสมือน (Virtual Desktop Infrastructure – VDI), การประมวลผลแบบเอดจ์ (Edge computing) และ คลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud) หรือไฮบริด HCI กำลังเติบโตในด้านงานอัตโนมัติของศูนย์ข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย โดยซอฟต์แวร์สามารถเข้าถึงฮาร์ดแวร์ที่บูรณาการอย่างแน่นหนาเพื่อช่วยตรวจสอบความจุ, อัปเกรด, จัดสรรทรัพยากร และเตือนปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
ทางเลือกด้านฮาร์ดแวร์ก็มีการพัฒนาเช่นกัน โดย HCI ที่เน้นซอฟต์แวร์สามารถรองรับเซิร์ฟเวอร์ และการจัดเก็บข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น ในขณะที่ HCI ที่เน้นฮาร์ดแวร์ก็รองรับการใช้งานที่ต้องการสูงขึ้น เช่น การเพิ่มการรองรับ NVMe สำหรับ SAP HANA นอกจากนี้ HCI กำลังได้รับความนิยมในฐานะแพลตฟอร์มสำหรับการปกป้องข้อมูล, สำรองข้อมูล และการกู้คืนจากภัยพิบัติ โดยบางครั้งก็ทำงานร่วมกับบริการคลาวด์ เช่น AWS Outposts ที่นำเสนอทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์สำหรับการใช้งานในองค์กร
ในอนาคต HCI มีแนวโน้มที่จะได้รับการยอมรับ และเติบโตอย่างต่อเนื่องใน บริการคลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud) / คลาวด์แบบไฮบริด (Hybrid Cloud), การวิเคราะห์และงาน การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning – ML), การขยายสภาพแวดล้อม Edge Computing และโครงการใหม่ ๆ ที่เน้นความรวดเร็วในการติดตั้ง และความง่าย ในการจัดการเป็นหลัก
ภาพจาก : https://www.cisco.com/c/dam/global/en_in/products/hyperconverged-infrastructure/deploy-hyperconvergence-anywhere.pdf
บทสรุป ระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบ Hyperconverged (Hyperconverged Infrastructure Conclusions)
HCI เป็นเทคโนโลยีที่กำลังเติบโต และมีบทบาทสำคัญในการจัดการทรัพยากร IT ในยุคดิจิทัล ด้วยความสามารถในการรวมทรัพยากร, ความเรียบง่ายในการติดตั้ง, การจัดการระบบที่มีประสิทธิภาพ และความยืดหยุ่นในการขยายตัว ทำให้เหมาะสมกับการใช้งานในหลากหลายรูปแบบ
แม้ว่า HCI จะมีข้อดีหลายประการแต่ก็ยังมีข้อเสียที่ควรพิจารณาอยู่ เช่นความเสี่ยงในการถูกผูกขาดจากผู้จำหน่าย, ความต้องการพลังงาน และการระบายความร้อนที่สูง และต้นทุนที่อาจสูงกว่าการใช้ระบบแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตามเทคโนโลยี HCI ก็กำลังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ HCI เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับองค์กรที่ต้องการความคล่องตัว และความรวดเร็วในการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในยุคดิจิทัลนี้
ที่มา : www.techtarget.com
Leave a comment