MDM คืออะไร ? ทำความรู้จักเทคโนโลยีจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างมีประสิทธิภาพ
ในยุคที่สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตกลายเป็นส่วนสำคัญในการทำงาน และชีวิตประจำวันของทุกคน องค์กรต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อที่จะจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่เหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพทำให้ “การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่” หรือ “Mobile Device Management (MDM)” กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถควบคุม, ดูแล และรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์เคลื่อนที่ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และในบทความนี้ เราจะขอนำเสนอทุกคนในเรื่องของ MDM ทั้งในส่วนของความหมาย, ความสำคัญ, หลักการทำงาน, องค์ประกอบที่สำคัญ, รูปแบบ, แนวทางปฏิบัติ และเปรียบเทียบข้อดี-ข้อสังเกต ของระบบจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่องค์กรทุกแห่งต้องควรที่จะพิจารณา
การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ คืออะไร ? (What is Mobile Device Management ?)
คำว่า “การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่” หรือ “Mobile Device Management (MDM)” คือชุดซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ดูแลระบบไอทีสามารถควบคุม, ดูแลความปลอดภัย และบังคับใช้นโยบายต่าง ๆ กับอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เชื่อมต่อกับระบบองค์กรได้
ภาพจาก : https://thectoclub.com/tools/best-mdm-software/
MDM เป็นส่วนสำคัญของ ระบบการจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ในองค์กร (Enterprise Mobility Management : EMM) และ การจัดการอุปกรณ์ปลายทางแบบรวมศูนย์ (Unified Endpoint Management : UEM) ซึ่ง MDM นั้นมุ่งเน้นไปที่การจัดการอุปกรณ์ทั้งหมดผ่านหน้าจอควบคุมเพียงหน้าจอเดียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ที่ใช้งานในองค์กร
ทำไม การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ จึงสำคัญ ? (Why is Mobile Device Management Important?)
อุปกรณ์เคลื่อนที่กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับธุรกิจ และพนักงานในการทำงาน อีกทั้งการทำงานทางไกลเช่น WFH ก็กลายเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น แต่เนื่องจากอุปกรณ์เคลื่อนที่เหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลธุรกิจที่สำคัญได้ ทำให้การจัดการ และการรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์เหล่านี้กลายเป็นความจำเป็น ฝ่ายไอทีขององค์กร และผู้นำด้านความปลอดภัย ต้องมีหน้าที่ดูแล และควบคุมอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ภาพจาก : https://www.tis-gmbh.de/en/tislog-mdm-mobile-device-management/
การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ ทำงานอย่างไร ? (How does Mobile Device Management works ?)
การทำงานของ MDM ประกอบด้วยการติดตั้ง ซอฟต์แวร์ (Software) ที่เรียกว่า “MDM Agent” ไว้บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และมี เซิร์ฟเวอร์ (Server) MDM ไว้อยู่ในระบบ คลาวด์ Cloud ผู้ดูแลระบบไอทีสามารถตั้งค่านโยบายต่าง ๆ ผ่านหน้าจอควบคุมของเซิร์ฟเวอร์ และส่งนโยบายไปยัง MDM agent บนอุปกรณ์ผ่านระบบไร้สาย หลังจากนั้น MDM Agent จะนำกฎเหล่านี้ไปใช้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยอ้างอิงจาก API ที่ฝังอยู่ใน ระบบปฏิบัติการ (Operation System) ของอุปกรณ์
นอกจากนี้ ผู้ดูแลระบบยังสามารถติดตั้ง แอปพลิเคชัน (Application) ไปยังอุปกรณ์ที่ถูกจัดการได้ผ่านเซิร์ฟเวอร์ MDM ทำให้ง่ายต่อการควบคุมการใช้งาน และรักษาความปลอดภัยของแอปพลิเคชัน และข้อมูล
ภาพจาก : https://www.techtarget.com/searchmobilecomputing/definition/mobile-device-management
คุณสมบัติสำคัญของ การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Key Capabilities of Mobile Device Management)
ภาพจาก : https://devicemax.com/enterprise/
1. การติดตามอุปกรณ์ (Device Tracking)
ทุกอุปกรณ์ที่องค์กรจัดการ สามารถตั้งค่าให้มีการติดตามผ่านระบบ Global Positioning System (GPS) และโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อให้ทีมไอทีสามารถตรวจสอบ, อัปเดต และแก้ไขปัญหาอุปกรณ์ได้แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ยังสามารถล็อก หรือแม้กระทั่งลบข้อมูลในอุปกรณ์จากระยะไกลได้ในกรณีที่อุปกรณ์สูญหาย หรือถูกขโมยไป
2. จัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Management)
ฝ่ายไอทีมีหน้าที่ในการจัดหา, ติดตั้ง, จัดการ และสนับสนุนการใช้งานอุปกรณ์ของพนักงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า อุปกรณ์แต่ละเครื่องมีระบบปฏิบัติการ และแอปพลิเคชันที่จำเป็น
3. รักษาความปลอดภัยของแอปพลิเคชัน (Application Security)
MDM สามารถทำ App Wraping เทคนิคที่เพิ่มชั้นของการรักษาความปลอดภัยให้กับแอปพลิเคชันเป้าหมาย โดยที่ไม่ต้องแก้ไข หรือดัดแปลงโค้ดต้นฉบับของแอปดังกล่าว เช่น การบังคับให้ล็อกอินด้วยรหัสผ่านก่อนเปิดใช้งาน, ป้องกันไม่ให้คัดลอกข้อมูลส่งต่อได้ ฯลฯ
4. การจัดการตัวตน และการเข้าถึง (Identity and Access Management – IAM)
IAM ช่วยให้การเข้าถึงของผู้ใช้อุปกรณ์แต่ละเครื่องถูกควบคุมอย่างเต็มที่ โดยใช้ฟีเจอร์ต่างๆ เช่น การลงชื่อเข้าใช้ครั้งเดียว (Single Sign-on (SSO)) และ การยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย (Multi-Factor Authentication (MFA))
5. รักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ปลายทาง (Endpoint Security)
MDM ช่วยรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ปลายทางที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายขององค์กร เช่น อุปกรณ์ IoT และ อุปกรณ์ที่สามารถสวมใส่ได้ (Wearable Device)
รูปแบบของการใช้งานระบบการจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Types of Mobile Device Management)
การนำเอาอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้งาน (Bring Your Own Device – BYOD)
หมายถึงการที่พนักงานใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่อื่น ๆ ในการทำงาน แทนการใช้อุปกรณ์ที่องค์กรจัดหาให้ แม้ว่าการนำเอาอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้งาน (Bring Your Own Device – BYOD) จะเพิ่มความท้าทายในเรื่องความปลอดภัย แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่ เนื่องจากเพิ่มความพึงพอใจ และประสิทธิภาพในการทำงาน อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนด้าน ฮาร์ดแวร์ (Hardware) ขององค์กรด้วย
ภาพจาก : https://www.aver.com/AVerExpert/how-does-byod-affect-your-school
การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ในองค์กร (Enterprise Mobility Management – EMM)
Enterprise Mobility Management (EMM) เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ นอกจากจะจัดการอุปกรณ์แล้ว ยังครอบคลุมถึงการจัดการผู้ใช้, ข้อมูล, แอปพลิเคชัน และอุปกรณ์ปลายทาง รวมถึง BYOD อีกด้วย ซึ่งวิธีการ EMM นั้นสามารถขยายตัวได้ตามความต้องการขององค์กร และด้วยฟีเจอร์ความปลอดภัยที่ขับเคลื่อนด้วย AI ช่วยให้สามารถให้ข้อมูลเชิงลึก และการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งาน และกิจกรรมจากแหล่งข้อมูลหลาย ๆ แห่งได้พร้อมกัน
การจัดการอุปกรณ์ปลายทางแบบรวมศูนย์ (Unified Endpoint Management – UEM)
เป็นระบบที่พัฒนาต่อยอดจาก EMM โดยมีความสามารถในการจัดการอุปกรณ์หลากหลายแพลตฟอร์ม เช่น iOS, Android, Windows, macOS, และ Chrome OS จากศูนย์กลางเดียว นอกจากการจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่แล้ว UEM ยังรวมถึงการจัดการอุปกรณ์ปลายทางอื่น ๆ เช่น คอมพิวเตอร์, อุปกรณ์ Internet of Things (IoT), และอุปกรณ์สวมใส่อีกด้วย
UEM ช่วยให้องค์กรสามารถควบคุม และรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ เทคโนโลยี AI และ การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning – ML) เพื่อวิเคราะห์ และตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านความปลอดภัยแบบเรียลไทม์ ทำให้องค์กรสามารถบริหารจัดการอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ภาพจาก : https://www.42gears.com/guide/the-ultimate-mobile-device-management-guide/
เปรียบเทียบข้อดี และข้อสังเกตของการจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Device Management Pro-Cons)
ข้อดี ในการใช้งาน การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่
1. เพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล
MDM ช่วยให้องค์กรสามารถปกป้องข้อมูลที่สำคัญในอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต โดยการเข้ารหัสข้อมูล, บังคับใช้รหัสผ่านที่แข็งแกร่ง และลบข้อมูลจากระยะไกลในกรณีที่อุปกรณ์สูญหาย หรือถูกขโมย
2. ควบคุมการใช้งานแอปพลิเคชัน และข้อมูล
องค์กรสามารถจัดการแอปพลิเคชันที่ใช้งานบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และควบคุมการเข้าถึงข้อมูลสำคัญ ทำให้สามารถกำหนดนโยบายความปลอดภัยได้อย่างชัดเจน
3. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
พนักงานสามารถใช้แอปพลิเคชัน และเครื่องมือในการทำงานผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ช่วยเพิ่มความคล่องตัว และประสิทธิภาพการทำงาน
4. สนับสนุนการทำงานแบบ BYOD
MDM ทำให้องค์กรสามารถจัดการอุปกรณ์ส่วนตัวของพนักงาน (BYOD) ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่กระทบต่อข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน และรักษาความปลอดภัยของข้อมูลองค์กร
5. การจัดการที่ง่ายขึ้น
ด้วย MDM ผู้ดูแลระบบสามารถตรวจสอบ ดูแล และจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งหมดได้จากศูนย์กลาง รวมถึงการอัปเดตซอฟต์แวร์ และแก้ไขปัญหาจากระยะไกล
ข้อเสีย ในการใช้งาน การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่
1. ความเป็นส่วนตัวของพนักงาน
การใช้ MDM โดยเฉพาะในกรณีของ BYOD อาจก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของพนักงาน เพราะผู้ดูแลระบบสามารถเข้าถึงข้อมูลบางส่วนในอุปกรณ์ส่วนตัวได้ จึงต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการแยกข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลธุรกิจ
2. ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง และบำรุงรักษา
การนำ MDM มาใช้อาจมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งในด้านซอฟต์แวร์, การบำรุงรักษา และการฝึกอบรมพนักงาน ซึ่งต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าก่อนการตัดสินใจ
3. ความซับซ้อนในการจัดการอุปกรณ์หลายระบบ
หากองค์กรใช้อุปกรณ์ที่มีระบบปฏิบัติการหลากหลาย เช่น iOS, Android, Windows และ macOS ผู้ดูแลระบบอาจพบกับความยุ่งยากในการจัดการ และควบคุมอุปกรณ์ทั้งหมด
4. ข้อจำกัดด้านการใช้งานบางฟีเจอร์
อุปกรณ์เคลื่อนที่บางประเภท หรือบางรุ่นอาจไม่สามารถรองรับฟีเจอร์ทั้งหมดของ MDM ได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้องค์กรต้องพิจารณาความเข้ากันได้ของอุปกรณ์แต่ละตัวก่อนการติดตั้ง
แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับ การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Best practices for Mobile Device Management)
พัฒนานโยบายที่ครอบคลุม
กำหนดนโยบายการใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่ให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านความปลอดภัยในองค์กร
กำหนดกฎเกณฑ์การใช้งาน
ระบุข้อกำหนดการใช้งานข้อมูล การโรมมิ่ง (Roamimg) และการโทรต่างประเทศอย่างชัดเจน
ติดตั้งแพลตฟอร์ม MDM
ใช้แพลตฟอร์มเพื่อจัดการและรักษาความปลอดภัยให้กับอุปกรณ์ทั้งหมด
พัฒนามาตรฐานความปลอดภัย
ตั้งค่าความปลอดภัยของอุปกรณ์ให้มีการอัปเดตอัตโนมัติ และใช้รหัสผ่านที่แข็งแกร่ง
ฝึกอบรมพนักงาน
สอนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ให้แก่พนักงานเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ
ภาพจาก : https://www.goto.com/it-management/solutions/mdm-software
บทสรุปของ การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Device Management Conclusion)
การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ไม่เพียงช่วยรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในองค์กร แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และองค์กรได้อย่างดีเยี่ยม MDM ช่วยให้องค์กรสามารถควบคุม และจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ควรต้องพิจารณาข้อดี และข้อสังเกตต่าง ๆ ของ MDM เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด และสอดคล้องกับความต้องการในระยะยาวขององค์กรนั่นเอง
ที่มา : www.ibm.com , www.techtarget.com
Leave a comment