Unique Identifier คืออะไร ? รู้จักตัวระบุเอกลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับเราแทบจะทุกเรื่อง

Unique Identifier คืออะไร ?

ในปัจจุบันมีข้อมูลถูกสร้าง และสะสมเกิดขึ้นมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล, ข้อมูลสินค้า หรือข้อมูลทางการเงิน การจัดการข้อมูลที่หลากหลายเหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องที่สำคัญ หนึ่งในวิธีที่ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้การจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพคือการใช้ “ตัวระบุเอกลักษณ์” หรือ “ตัวระบุหนึ่งเดียว” หรือที่ภาษาอังกฤษคือคำว่า “Unique Identifier (UID)” นั่นเอง

บทความเกี่ยวกับ Database อื่นๆ

UID เป็นรหัส หรือสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อระบุตัวตนของข้อมูลเฉพาะเจาะจงแบบไม่ซ้ำกัน เปรียบได้กับเลขประจำตัวประชาชนที่ใช้แยกแยะบุคคลในสังคม ซึ่ง UID ถูกนำไปใช้ในหลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นในระบบคอมพิวเตอร์, การทำธุรกรรมออนไลน์ (Online Transaction), ระบบฐานข้อมูล (Database) หรือแม้กระทั่งในสินค้า และบริการต่าง ๆ ก็ล้วนแต่จะมี UID เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งสิ้น

และในบทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ UID ในทุกแง่มุมตั้งแต่ความหมาย, ประเภทต่าง ๆ, หลักการสร้าง UID ไปจนถึงประโยชน์และการนำ UID ไปใช้งาน ตามมาดูกันได้เลย

เนื้อหาภายในบทความ

ตัวระบุเอกลักษณ์ คืออะไร? (What is UID ?)

ตัวระบุเอกลักษณ์ (Unique Identifier – UID) คือรหัสที่ประกอบไปด้วยตัวเลข, ตัวอักษร, หรือทั้งสองอย่าง (Alphanumeric) ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการระบุตัวตนเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระบบ โดย UID ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้สามารถแยกแยะข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ทำให้การเข้าถึง, ปรับปรุง หรือโต้ตอบกับข้อมูล เป็นไปได้อย่างแม่นยำ และสะดวกยิ่งขึ้น

โดย UID สามารถนำมาใช้กับสิ่งใดก็ได้ที่ต้องการระบุให้แตกต่างจากข้อมูลอื่น ๆ เช่น บุคคล, บริษัท, เครื่องจักร, รายการในฐานข้อมูล, หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ และ UID นั้นมักจะถูกสร้างขึ้นให้เหมาะกับการใช้งานเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบบสุ่มโดยใช้อัลกอริทึม, กำหนดตามลำดับที่เพิ่มขึ้น หรือเลือกโดยผู้ใช้งาน ทั้งหมดนี้ช่วยให้ข้อมูลมีความเป็นระเบียบ และลดปัญหาความซ้ำซ้อนของข้อมูลที่เกิดขึ้น

Unique Identifier คืออะไร ? รู้จักตัวระบุเอกลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับเราแทบจะทุกเรื่อง
ภาพจาก : https://www.pufsecurity.com/technology/uid/

ประเภทของ ตัวระบุเอกลักษณ์ (Types of UID)

ตัวระบุเอกลักษณ์ (Unique Identifier – UID) สามารถปรากฏในหลายรูปแบบตามการใช้งานที่แตกต่างกันซึ่งในตัวอย่างที่ยกมาต่อไปนี้ จะแสดงถึง UID ในรูปแบบต่าง ๆ เราลองมาดูกันที่ละประเภทเลย

1. Uniform Resource Identifier (URI)

URI คือข้อความที่ใช้ระบุ และเข้าถึงทรัพยากรบนอินเทอร์เน็ต เช่น ข้อความ, วิดีโอ, รูปภาพ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ประกอบด้วยสองส่วนหลักๆ ก็คือ Scheme (เช่น http, https, ftp) และ path ที่ใช้ระบุตำแหน่งของทรัพยากร เป็นต้น

Unique Identifier คืออะไร ? รู้จักตัวระบุเอกลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับเราแทบจะทุกเรื่อง
ภาพจาก : https://auth0.com/blog/url-uri-urn-differences/

2. Uniform Resource Locator (URL)

สำหรับ Uniform Resource Locator (URL) เป็นอีกประเภทหนึ่งของ URI ที่ใช้ระบุตำแหน่งของหน้าเว็บหรือทรัพยากรบนอินเทอร์เน็ต ประกอบด้วย scheme (http, https), host (ชื่อโดเมน เช่น https://tips.thaiware.com), และ path (เช่น /page1) เมื่อผู้ใช้พิมพ์ URL ลงใน เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) ระบบจะทำการเรียกข้อมูลจาก เซิร์ฟเวอร์ (Server) เพื่อแสดงผล ตัวอย่างเช่น https://tips.thaiware.com/2579.html จะทำการแสดงผลเนื้อหาทิปส์ไอทีบนเว็บไซต์ไทยแวร์ผ่านการดึงข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์นั่นเอง

3. Universally Unique Identifier (UUID)

UUID คือรหัสฐานสิบหกขนาด 128 บิต ที่สร้างขึ้นเพื่อระบุข้อมูลเฉพาะอย่างไม่ซ้ำกัน โดยใช้อัลกอริทึมที่ทำให้โอกาสที่ UUID จะซ้ำกันน้อยมาก ด้วยขนาดของพื้นที่ตัวเลขที่ใหญ่ UUID ก็เลยสามารถใช้กับข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ เช่น การระบุไฟล์ข้อมูลในฐานข้อมูล หรือระบุเซสชันของผู้ใช้บนเว็บไซต์ ตัวอย่างเช่น 550e8400-e29b-41d4-a716-446655440000

Unique Identifier คืออะไร ? รู้จักตัวระบุเอกลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับเราแทบจะทุกเรื่อง

ภาพจาก : https://www.techtarget.com/iotagenda/definition/unique-identifier-UID

4. Globally Unique Identifier (GUID)

GUID เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ UUID ที่สร้างขึ้นโดยผลิตภัณฑ์ของ Microsoft ใช้ใน ระบบปฏิบัติการ Windows และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ Microsoft เช่น การระบุเอกสารใน Word หรือผู้ใช้ใน Active Directory รูปแบบจะคล้ายกับ UUID ตัวอย่างเช่น 6f9619ff-8b86-d011-b42d-00cf4fc964ff

Unique Identifier คืออะไร ? รู้จักตัวระบุเอกลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับเราแทบจะทุกเรื่อง

ภาพจาก : https://www.techtarget.com/searchwindowsserver/definition/GUID-global-unique-identifier

5. Bank Identifier Code (BIC)

BIC หรือ SWIFT Code คือรหัสที่ใช้ระบุสถาบันการเงินในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ มีความยาวตั้งแต่ 8 ไปจนถึง 11 หลัก ระบุธนาคาร, สาขา และที่ตั้งเพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรม ตัวอย่างเช่น “BKKBTHBK” ก็จะหมายถึง “ธนาคารกรุงเทพ ประเทศไทย” เป็นต้น

Unique Identifier คืออะไร ? รู้จักตัวระบุเอกลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับเราแทบจะทุกเรื่อง
ภาพจาก : https://www.bill.com/learning/what-is-a-swift-code

6. Unique Device Identifier (UDID)

UDID เป็นรหัสเฉพาะยาว 24 ตัวอักษรที่ใช้ระบุอุปกรณ์ของ Apple เช่น iPhone และ iPad เพื่อจัดการการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของ Apple อย่าง App Store และ iCloud ช่วยในการติดตามและจัดการอุปกรณ์ในองค์กรได้อย่างปลอดภัย

Unique Identifier คืออะไร ? รู้จักตัวระบุเอกลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับเราแทบจะทุกเรื่อง

ภาพจาก : https://www.sphinx-solution.com/blog/steps-for-unique-device-identifier-on-iphone/

7. Service Set Identifier (SSID)

SSID คือชื่อของ เครือข่ายไร้สาย (Wi-Fi) ที่มีความยาวได้ถึง 32 ตัวอักษร ใช้เพื่อแยกแยะเครือข่ายที่ต้องการเชื่อมต่อเครื่อข่าย การตั้งชื่อ SSID ที่ชัดเจน และเฉพาะเจาะจงช่วยป้องกันการสับสนกับเครือข่ายอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันได้

8. National Provider Identifier (NPI)

NPI เป็นหมายเลข 10 หลักที่ใช้ระบุผู้ให้บริการด้านสุขภาพในประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้เพื่อการทำธุรกรรมทางการแพทย์ และการเรียกเก็บเงินกับบริษัทประกันสุขภาพตามข้อกำหนดของกฎหมาย Health Insurance Portability and Accountability Act (HIPAA)

9. Media Access Control (MAC) Address

สำหรับ เลขประจำการ์ดเครือข่าย (MAC Address) เป็นหมายเลขฮาร์ดแวร์เฉพาะของอุปกรณ์เครือข่าย ความยาว 48 บิต แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นหมายเลขที่ออกโดยองค์กรสากลให้กับผู้ผลิตอุปกรณ์ และส่วนที่สองกำหนดโดยผู้ผลิตเอง ช่วยให้สามารถระบุ และจัดการอุปกรณ์ในเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Unique Identifier คืออะไร ? รู้จักตัวระบุเอกลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับเราแทบจะทุกเรื่อง
ภาพจาก : https://cyberhoot.com/cybrary/media-access-control-mac-address/

10. วิธีอื่น ๆ ในการระบุผู้ใช้งานหรือหน่วยงาน

นอกเหนือจากตัวอย่างข้างต้น ยังมีวิธีการระบุอื่น ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หมายเลขประกันสังคม (Social Security Number), ที่อยู่อีเมล (E-Mail Address), ชื่อผู้ใช้ (Username) และหมายเลขโทรศัพท์

เราสามารถสร้าง ตัวระบุเอกลักษณ์ ได้อย่างไร ? (How can we create UID ?)

คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของ ตัวระบุเอกลักษณ์ (Unique Identifier – UID) คือความไม่ซ้ำกัน ดังนั้น การสร้าง UID ใหม่ต้องมีวิธีการที่มั่นใจได้ว่าจะไม่ทำให้เกิดการซ้ำกัน ในระบบที่ต้องรองรับวัตถุจำนวนมาก หรือมีหลายหน่วยงาน ขนาดของ UID จึงควรใหญ่พอที่จะระบุวัตถุทั้งหมด เพราะเมื่อเกิดการซ้ำกันของ UID หรือที่เรียกว่า “การชนกัน” (Collision) จะส่งผลต่อความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของระบบ การเลือกวิธีการสร้าง UID ที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ วิธีการสร้าง UID แบบต่าง ๆ ก็มีดังนี้

1. Sequential หรือ Serial Numbering System

เป็นการกำหนดหมายเลขแบบต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นทีละหนึ่งทุกครั้งที่สร้าง UID วิธีนี้ง่ายต่อการใช้งาน และควบคุม ตัวอย่างเช่น การกำหนดหมายเลขประจำตัวของพนักงาน หรือเลขทะเบียนสินค้าในระบบฐานข้อมูล

Unique Identifier คืออะไร ? รู้จักตัวระบุเอกลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับเราแทบจะทุกเรื่อง
ภาพจาก : https://www.formaxprinting.com/blog/printing-lingo-what-is-sequential-numbering

ข้อดี

  •  เข้าใจง่าย และจัดการได้ง่าย

ข้อสังเกต

  • จำเป็นต้องมีศูนย์กลางในการควบคุม เพื่อป้องกันการชนกัน
  • มีความเป็นไปได้ที่ UID จะซ้ำกัน หากไม่ได้จัดการอย่างระมัดระวัง

2. User Entry

ให้ผู้ใช้กำหนดค่า UID เอง เช่น การตั้งชื่อผู้ใช้ (Username) หรือการลงทะเบียนที่อยู่อีเมล ระบบนี้มักใช้ในกรณีที่ผู้ใช้สามารถสร้างข้อมูลที่ไม่ซ้ำกันได้เอง

Unique Identifier คืออะไร ? รู้จักตัวระบุเอกลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับเราแทบจะทุกเรื่อง
ภาพจาก : https://docs.gravitykit.com/article/717-understanding-how-an-entry-gets-associated-with-a-userข้อดี

  • มีความยืดหยุ่นสูง
  • เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ระบุข้อมูลที่จำง่าย

ข้อสังเกต

  • ต้องมีฐานข้อมูลที่ควบคุมความไม่ซ้ำซ้อนของข้อมูลที่ผู้ใช้ระบุ เพื่อป้องกันการชนกัน

3. Random Numbering System

สร้าง UID โดยการสุ่มหมายเลข ระบบนี้มีความน่าเชื่อถือในกรณีที่พื้นที่ของตัวเลขที่เป็นไปได้ มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับจำนวนวัตถุที่ต้องการระบุ ตัวอย่างเช่น การสร้างรหัสผ่านแบบสุ่ม หรือการสร้าง UUID

Unique Identifier คืออะไร ? รู้จักตัวระบุเอกลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับเราแทบจะทุกเรื่อง
ภาพจาก : https://tashian.com/articles/a-brief-history-of-random-numbers/

ข้อดี

  • ไม่จำเป็นต้องมีศูนย์กลางในการควบคุม และ มีความเป็นไปได้ต่ำมากที่ UID จะซ้ำกัน

ข้อสังเกต

  • อาจจะต้องการกระบวนการตรวจสอบเพิ่มเติมในกรณีที่มีการสร้าง UID ซ้ำกันโดยบังเอิญ

4. Hash System

ใช้ฟังก์ชันการเข้ารหัสแบบทางเดียว (Cryptographic One-Way Hash Function) เช่น MD5, SHA-256 ในการสร้าง UID ด้วยวิธีนี้สามารถสร้าง UID ที่มีความยาวคงที่ และมีโอกาสเกิดการชนกันน้อยมาก จึงเหมาะสำหรับระบบที่ต้องการความปลอดภัย และกระจายตัวสูง

Unique Identifier คืออะไร ? รู้จักตัวระบุเอกลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับเราแทบจะทุกเรื่อง
ภาพจาก : https://cyberhoot.com/cybrary/hashing/

ข้อดี

  • ไม่จำเป็นต้องมีศูนย์กลางควบคุม
  • สามารถสร้าง UID ที่ปลอดภัย และยากต่อการเดา

ข้อสังเกต

  • ยังมีโอกาสเกิดการชนกัน แม้ว่าจะน้อยมากก็ตาม

5. การผสมผสานวิธีต่าง ๆ

บางระบบอาจใช้วิธีการสร้าง UID แบบผสม เช่น การใช้รหัสวันที่ตามลำดับ ร่วมกับตัวเลขแบบสุ่มเพื่อเพิ่มความซับซ้อน และลดโอกาสเกิดการชนกัน ตัวอย่างเช่น การสร้างเลขที่ใบสั่งซื้อที่มีการรวมวันที่ และลำดับที่เข้าไว้ด้วยกัน เช่น 20240914-12345

การเลือกใช้วิธีการสร้าง UID ขึ้นอยู่กับลักษณะของระบบ และความต้องการในการจัดการข้อมูล ความเข้าใจในข้อดี และข้อเสียของแต่ละวิธีจะช่วยให้สามารถสร้าง UID ที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยได้

ตัวอย่างการนำ ตัวระบุเอกลักษณ์ ไปใช้งาน (Examples of UID Usage)

ตัวระบุเอกลักษณ์ (Unique Identifier – UID) ถูกนำมาใช้ในหลายบริบท ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนผู้ใช้, การจัดการข้อมูลในระบบฐานข้อมูล, การติดตามผลิตภัณฑ์ในซัปพลายเชน, การระบุตัวบุคคลในระดับประเทศ และการจัดการข้อมูลผู้ป่วยในโรงพยาบาล UID ช่วยให้การระบุแยกแยะข้อมูล หรือบุคคลเฉพาะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย โดยตัวอย่างการใช้งานของ UID ก็มีดังนี้

1. ในระบบฐานข้อมูล และสเปรดชีต

ในฐานข้อมูล หรือสเปรดชีต UID มักถูกกำหนดให้เป็นคอลัมน์หรือฟิลด์เฉพาะสำหรับแต่ละแถวข้อมูล ซึ่งมักเรียกว่า “คีย์” (Key) เช่น Primary Key เพื่อให้การเข้าถึง และการอ้างอิงข้อมูลเป็นไปอย่างถูกต้อง UID ช่วยป้องกันการซ้ำซ้อน และความผิดพลาดในการจัดเก็บข้อมูล ทำให้สามารถจัดเรียงข้อมูลได้ง่ายขึ้นตัวอย่างเช่น การใช้เลขประจำตัวลูกค้า (Customer ID) ในฐานข้อมูลของร้านค้าออนไลน์ เพื่อระบุ และติดตามคำสั่งซื้อของลูกค้าแต่ละราย

2. การใช้งานในระบบซัปพลายเชน

ในระบบซัปพลายเชน ผู้ผลิตมักใช้ UID ในรูปแบบของหมายเลขซีเรียล (Serial Number) หรือรหัสสินค้า (Product ID) เพื่อระบุชิ้นส่วน หรือผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นอย่างเฉพาะเจาะจง UID ช่วยให้สามารถติดตามแหล่งที่มา และสถานะของผลิตภัณฑ์ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบคุณภาพและการแก้ปัญหา เช่น หากเกิดการเรียกคืนสินค้าจากท้องตลาด UID จะช่วยให้สามารถระบุล็อตของสินค้าที่ได้รับผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว

3. การระบุบุคคลในระดับประเทศ

หลายประเทศใช้ UID สำหรับระบุตัวตนของประชาชน เช่น หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน (National ID) หรือหมายเลขประกันสังคม (Social Security Number) การใช้ UID ในกรณีนี้ช่วยให้หน่วยงานรัฐบาลสามารถระบุตัวบุคคลได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษี การดำเนินการทางกฎหมาย หรือการให้บริการด้านสวัสดิการของรัฐ เนื่องจากความเป็นไปได้ที่บุคคลจำนวนมากอาจมีชื่อซ้ำกัน การใช้ UID จึงจำเป็นต่อการระบุตัวตนที่แม่นยำ และปลอดภัย

4. การใช้งานในด้านสุขภาพ

 UID ถูกใช้เพื่อระบุตัวผู้ป่วยแทนการใช้ชื่อโดยตรง เช่น หมายเลขประจำตัวผู้ป่วย (Patient ID) ซึ่งจะถูกใช้ในระบบการจัดการข้อมูลทางการแพทย์ ช่วยป้องกันปัญหาความซ้ำซ้อน และการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่จำเป็น UID สำหรับผู้ป่วยช่วยให้โรงพยาบาล และหน่วยงานสาธารณสุขสามารถติดตาม และจัดการประวัติการรักษาของผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังช่วยในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เช่นบริษัทประกันสุขภาพ

5. การลงทะเบียนผู้ใช้ในระบบออนไลน์

หนึ่งในวิธีการใช้งาน UID ที่พบได้บ่อยที่สุดคือการลงทะเบียนผู้ใช้บนเว็บไซต์ หรือบริการออนไลน์ ผู้ใช้จะได้รับ UID ในรูปแบบของชื่อผู้ใช้ (Username) หรือรหัสประจำตัว (User ID) เช่น อีเมล หรือหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งใช้เพื่อสู่ระบบ ช่วยให้สามารถจัดการ และติดตามกิจกรรมของผู้ใช้ได้อย่างปลอดภัย

บทสรุปของ ตัวระบุเอกลักษณ์ (UID Conclusions)

ตัวระบุเอกลักษณ์ (Unique Identifier – UID) ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในยุคดิจิทัล เนื่องจากมีบทบาทในการระบุตัวตนของข้อมูลที่หลากหลายอย่างชัดเจน และไม่ซ้ำกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบุคคล, สินค้า หรือข้อมูลในฐานข้อมูลต่าง ๆ การใช้ UID จึงจำเป็นเพื่อให้การจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระเบียบ ลดความเสี่ยงของการเกิดข้อมูลซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ UID ยังถูกนำไปใช้ในหลากหลายบริบท ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการดำเนินงาน จึงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนพร้อมกับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ระบบต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพในสังคมดิจิทัล

ที่มา : www.techtarget.com , wise.com

Leave a comment