Web Hosting คืออะไร ? รู้จักประเภทต่าง ๆ ของมัน และปัจจัยที่ต้องพิจารณาก่อนใช้งาน
หากเรากำลังคิดที่จะสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบล็อกที่แชร์เรื่องราวส่วนตัว, ร้านค้าออนไลน์ หรือเว็บไซต์ธุรกิจ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Web Hosting จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะ Web Hosting คือตัวช่วยที่จะทำให้เว็บไซต์ของเราสามารถเข้าถึงได้บนโลกออนไลน์
(AI Generated Image)
ในบทความนี้จะพาทุกคนไปเรียนรู้ว่า Web Hosting คืออะไร ? มีความสำคัญอย่างไร ? และมีประเภทไหนบ้างที่เหมาะกับการใช้งานของเรา ช่วยให้สามารถเลือกบริการที่ตอบโจทย์ และคุ้มค่าที่สุด เพื่อทำให้การสร้างเว็บไซต์เป็นเรื่องง่าย …
เว็บโฮสติ้ง คืออะไร ? (What is Web Hosting ?)
Web Hosting คือบริการที่ให้เราเช่าพื้นที่บนเซิร์ฟเวอร์ในโลกอินเทอร์เน็ต เหมือนกับการเช่าร้านค้าในโลกดิจิทัล ที่เราจ่ายค่าเช่าที่เพื่อแลกกับพื้นที่สำหรับทำธุรกิจออนไลน์ ไม่ว่าจะอยากสร้างร้านค้าออนไลน์ แสดงข้อมูลประวัติเกี่ยวกับตัวเอง ซึ่งเราสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น
- อัปโหลดรูปภาพ เพื่อแสดงสินค้า ผลงาน หรือคอลเลกชั่นโปรด
- แสดงข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราเองหรือธุรกิจ ให้คนอื่นได้รู้จักเรามากขึ้น
- สร้างพื้นที่ช็อปปิ้งออนไลน์ ที่ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าของเราได้ทุกที่ทุกเวลา
- แสดงฟอร์มการติดต่อ เพื่อให้ลูกค้าสามารถส่งข้อความ หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้สะดวก
- ฯลฯ
Web Hosting จึงเป็นเหมือนประตูที่เปิดให้เราเข้าสู่โลกดิจิทัลที่เชื่อมต่อกับทุกคนอย่างอิสระ
ภาพจาก : https://www.freepik.com
เว็บโฮสติ้ง สำคัญอย่างไร ? (How does web hosting work ?)
ทุกเว็บไซต์ต้องถูกจัดเก็บไว้บน เซิร์ฟเวอร์ (Server) ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เว็บไซต์สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา เมื่อมีผู้เข้าชมเบราว์เซอร์จะดึงข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์นั้น ๆ มาแสดงผล เซิร์ฟเวอร์จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าเราจะสามารถตั้งค่าเซิร์ฟเวอร์เอง และโฮสต์เว็บไซต์ด้วยตัวเองได้ แต่การทำเช่นนี้มีความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสูง ทั้งการสร้างเซิร์ฟเวอร์ และการดูแลรักษา เช่น การป้องกันไวรัส, การสำรองข้อมูล (Backup) และการแก้ปัญหาทางเทคนิคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งการปรับแต่งเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้รองรับปริมาณผู้เข้าชมที่สูงยังเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านนี้เป็นเหตุผลที่บริการ Web Hosting มีบทบาทสำคัญ
บริษัทที่ให้บริการ Web Hosting จะให้พื้นที่เซิร์ฟเวอร์แก่เจ้าของเว็บไซต์ หรือลูกค้าที่ต้องการออนไลน์โดยไม่ต้องยุ่งยากกับการตั้งค่าเซิร์ฟเวอร์เอง รวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ และอัปเดตซอฟต์แวร์อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังมีบริการสนับสนุนทางเทคนิค ช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาได้ทันทีที่เกิดขึ้น ทำให้เว็บไซต์ของเราทำงานได้ราบรื่นตลอดเวลา
ประเภทของ เว็บโฮสติ้ง (Types of Web Hosting)
Web Hosting มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสำหรับบล็อกเกอร์, นักธุรกิจอิสระ, ธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงธุรกิจขนาดกลาง และองค์กรขนาดใหญ่ ความต้องการใช้งานเว็บโฮสติ้งของแต่ละกลุ่มอาจมีความแตกต่างกัน เพื่อรองรับความหลากหลายนี้ จึงมีบริการ Web Hosting หลายประเภทที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้ใช้งานแต่ละกลุ่ม ดังนี้
Shared Hosting
ภาพจาก : https://tezhost.com/web-hosting/basics-and-types/
Shared Hosting เป็นประเภทที่มีราคาถูกที่สุด และเป็นที่นิยมสำหรับ Blog เว็บไซต์ส่วนตัว หรือธุรกิจขนาดเล็ก ในการใช้ Shared Hosting เว็บไซต์ของเราจะถูกเก็บไว้บนเซิร์ฟเวอร์เดียวกับเว็บไซต์อื่น ๆ อีกหลายเว็บไซต์ ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรร่วมกัน หากเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งบนเซิร์ฟเวอร์เดียวกันมีการเข้าชมสูงมาก อาจทำให้ทรัพยากรถูกดึงไปใช้มากเกินไป และทำให้เว็บไซต์อื่นช้าลงได้
WordPress Hosting
ภาพจาก : https://tezhost.com/web-hosting/basics-and-types/
ระบบ เวิร์ดเพรสส์ (WordPress) เป็นระบบจัดการเนื้อหา (CMS) ที่ช่วยให้การสร้าง จัดการ และเผยแพร่เนื้อหาบนเว็บไซต์เป็นเรื่องง่าย ปัจจุบันมีเว็บไซต์ทั่วโลกกว่า 43.3% ใช้ WordPress เป็นแพลตฟอร์มหลัก เพื่อตอบสนองความนิยมที่เพิ่มขึ้นนี้ หลายบริษัทผู้ให้บริการ Web Hosting ได้พัฒนาแผนบริการ WordPress Hosting ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นแผนโฮสติ้งแบบแชร์ที่ติดตั้ง WordPress มาให้ล่วงหน้า และดูแลการอัปเดตซอฟต์แวร์หลักของ WordPress ให้โดยอัตโนมัติ
WordPress Hosting หลาย ๆ แบบยังมาพร้อมกับเครื่องมือพิเศษที่ช่วยให้การใช้งาน WordPress เป็นเรื่องที่สะดวก เช่น ธีม และเทมเพลต สำหรับเว็บไซต์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ปลั๊กอิน หรือส่วนขยายที่ติดตั้งมาให้แล้ว เพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน และส่งเสริมการตลาดให้กับเว็บไซต์
อีกหนึ่งจุดเด่นของ WordPress Hosting คือการเข้าถึงทีมบริการลูกค้าที่เชี่ยวชาญด้าน WordPress โดยเฉพาะ ทำให้การขอความช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ WordPress เป็นเรื่องง่าย WordPress Hosting จึงเป็นอีกทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับบล็อกเกอร์ เจ้าของเว็บไซต์ส่วนตัว หรือธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress โดยไม่ต้องกังวลกับการอัปเดตซอฟต์แวร์ หรือตั้งค่าเองทั้งหมด เป็นการรวมความสะดวก และความพร้อมในที่เดียว ทำให้การออนไลน์เป็นเรื่องง่ายและไม่ยุ่งยาก
Website Builder Hosting
ภาพจาก : https://quarkly.io/blog/how-to-design-a-user-friendly-wix-website-ux-and-ui-tips/
เป็นรูปแบบ Web Hosting ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทอย่าง Squarespace และ Wix ก็เป็นตัวอย่างของผู้ให้บริการในกลุ่มนี้ แผนบริการนี้มาพร้อมเครื่องมือสร้างเว็บไซต์ที่ใช้งานได้ง่าย ๆ ผู้ใช้สามารถปรับแต่งเว็บไซต์ผ่านหน้าจอที่แสดงผลลัพธ์แบบเรียลไทม์ เพียงแค่คลิก และแก้ไขส่วนต่าง ๆ บนหน้าเว็บได้ทันที ไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์เพิ่ม หรือดาวน์โหลดปลั๊กอินให้ยุ่งยากเหมือน CMS อย่าง WordPress
นอกจากนี้ เครื่องมือสร้างเว็บไซต์บางตัว ยังมีฟีเจอร์สร้างเว็บไซต์ด้วย ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ให้เรากรอกข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจ แล้ว AI จะออกแบบเว็บไซต์ให้โดยอัตโนมัติ บริการ Website Builder Hosting ส่วนใหญ่ใช้ Cloud Hosting เช่น Squarespace และ Wix ส่วนผู้ให้บริการแบบเก่าแก่อย่าง GoDaddy มักใช้ Shared Hosting แทน
Website Builder Hosting เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นสร้างเว็บไซต์ และต้องการวิธีที่ง่ายที่สุด แต่หากเน้นการเขียนบล็อก อาจจะดีกว่าถ้าเลือกใช้ Shared Hosting หรือ WordPress Hosting ที่มีเครื่องมือบล็อกครบครันกว่า
VPS Hosting
ภาพจาก : https://tezhost.com/web-hosting/basics-and-types/
VPS Hosting หรือ Virtual Private Server เป็นบริการ Hosting ขั้นสูงที่แบ่งเซิร์ฟเวอร์จริง ๆ ออกเป็นหลายเซิร์ฟเวอร์เสมือน แม้จะคล้ายกับ Shared Hosting ที่มีหลายเว็บไซต์ใช้งานบนเซิร์ฟเวอร์เดียวกัน แต่ VPS Hosting มีข้อดีคือ แต่ละเซิร์ฟเวอร์เสมือนจะมีทรัพยากรเป็นของตัวเอง จึงไม่ต้องกังวลว่าเว็บไซต์จะช้าลงหากมีเว็บไซต์อื่น ๆ บนเซิร์ฟเวอร์เดียวกันมีการเข้าชมเพิ่มขึ้นสูง
VPS Hosting มีสองรูปแบบหลักให้เลือกได้แก่
Self-Managed VPS Hosting
เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้ทางเทคนิค และต้องการจัดการเซิร์ฟเวอร์เอง รูปแบบนี้มักมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า
Managed VPS Hosting
บริษัทผู้ให้บริการจะดูแลการตั้งค่า และการจัดการเซิร์ฟเวอร์ให้ ทำให้สะดวกสำหรับผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านเทคนิค
VPS Hosting จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเว็บไซต์ที่ต้องการความเสถียรและประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้งาน Shared Hosting แต่ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องใช้ Dedicated Hosting นั่นเอง
Dedicated Hosting
ภาพจาก : https://tezhost.com/web-hosting/basics-and-types/
Dedicated Hosting คือบริการที่ให้เราได้ใช้งานเซิร์ฟเวอร์ทั้งเครื่องเพียงผู้เดียว เว็บไซต์ของเราจึงมีทรัพยากรทั้งหมดให้ใช้งานอย่างเต็มที่ มีความยืดหยุ่นในการปรับแต่งระบบได้มากกว่า และมีความปลอดภัยสูงกว่าการใช้เซิร์ฟเวอร์ร่วมกับเว็บไซต์อื่น ๆ
แม้ว่า Dedicated Hosting จะมีค่าใช้จ่ายสูง และวิธีการจัดการเซิร์ฟเวอร์จะค่อนข้างซับซ้อน ไม่เหมาะสำหรับบล็อกเกอร์ หรือธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แต่เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการประสิทธิภาพ, ความเสถียร และการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด
Cloud Hosting
ภาพจาก : https://tezhost.com/web-hosting/basics-and-types/
Cloud Hosting เป็นบริการที่เก็บเว็บไซต์ไว้บนเซิร์ฟเวอร์เสมือนหลาย ๆ ตัว ซึ่งกระจายอยู่ในศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ ที่มีเซิร์ฟเวอร์จริงจำนวนมาก ข้อดีของการกระจายข้อมูลแบบนี้คือ เว็บไซต์สามารถรับมือกับปริมาณการเข้าชมที่สูงได้ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของ Traffic แบบไม่ทันตั้งตัว
อีกหนึ่งข้อดีของ Cloud Hosting คือ หากมีเซิร์ฟเวอร์ใดล่ม หรือมีปัญหา ก็จะมีเซิร์ฟเวอร์อื่นทำหน้าที่ให้บริการข้อมูลแทน ทำให้เว็บไซต์ยังคงใช้งานได้ต่อเนื่อง และยังช่วยให้เว็บไซต์โหลดเร็วในทุกพื้นที่ เพราะเบราว์เซอร์ของผู้เข้าชมจะดึงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลที่ใกล้ที่สุด
Reseller Hosting
ภาพจาก : https://tezhost.com/web-hosting/basics-and-types/
เป็นบริการที่ช่วยให้เราสามารถเริ่มธุรกิจ Web Hosting ของตัวเองได้โดยไม่ต้องลงทุนในเซิร์ฟเวอร์ หรือโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ โดยเราสามารถซื้อพื้นที่ และทรัพยากรจากผู้ให้บริการหลัก แล้วนำมาจัดสรรขายเป็นแพ็คเกจโฮสติ้งให้กับลูกค้าได้ บริการนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างรายได้จากการให้บริการโฮสติ้งภายใต้แบรนด์ของตนเอง โดยไม่ต้องยุ่งยากกับการดูแลเซิร์ฟเวอร์เอง ผู้ให้บริการหลักจะจัดการส่วนที่ซับซ้อน เช่น การบำรุงรักษาเซิร์ฟเวอร์ และความปลอดภัย ทำให้เราโฟกัสที่การขาย และดูแลลูกค้าได้อย่างเต็มที่
ข้อดี และข้อเสีย ของแต่ละประเภทของ เว็บโฮสติ้ง (Pros and Cons in each type of Web Hosting)
จากหัวข้อที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้ประเภทต่าง ๆ ของ Web Hosting กันไปแล้วซึ่งมีข้อดี และข้อเสียที่ต่างกันไป สามารถนำมาสรุปได้เป็นตารางดังนี้
ประเภท | ข้อดี | ข้อเสีย |
Shared Hosting |
|
|
WordPress Hosting |
|
|
Website Builder Hosting |
|
|
VPS Hosting |
|
|
Dedicated Hosting |
|
|
Cloud Hosting |
|
|
Reseller Hosting |
|
|
ปัจจัยที่ควรพิจารณาเมื่อเลือก เว็บไฮสติ้ง (Web Hosting Choosing Consideration Factors)
1. พื้นที่จัดเก็บข้อมูล (Storage Space)
พื้นที่จัดเก็บข้อมูลมีผลต่อปริมาณข้อมูลที่สามารถเก็บบนไว้บนเว็บไซต์ได้ หากใช้พื้นที่เกินกำหนดจะต้องอัปเกรดแผนการใช้งาน ควรเลือกแผนที่มีพื้นที่มากเพียงพอ (อย่างน้อย 10 GB) หากมีไฟล์ขนาดใหญ่ เช่น รูปภาพ และวิดีโอ ควรตรวจสอบประเภทของการจัดเก็บข้อมูลของเซิร์ฟเวอร์ เช่น อุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบ SSD ที่เร็ว และเสถียรกว่า ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) อีกด้วย
2. แบนด์วิดท์ (Bandwidth)
แบนด์วิดท์กำหนดปริมาณข้อมูลที่เว็บไซต์สามารถส่งไปยังผู้เข้าชมได้ต่อวินาที ส่งผลต่อจำนวนผู้เข้าชมพร้อมกัน และความเร็วในการโหลด ควรเลือกแผนที่มีแบนด์วิดท์ไม่จำกัด หรือไม่ระบุขีดจำกัดแบนด์วิดท์
3. ความเร็วของเว็บไซต์ (Site Speed)
ขึ้นอยู่กับแบนด์วิดท์, เครือข่ายส่งเนื้อหา (CDN) และเครื่องมือการแคช (Cache) ที่ผู้ให้บริการมี การมี CDN ช่วยให้การโหลดเร็วขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลก
4. ระยะเวลาพร้อมใช้งาน (Uptime)
ระยะเวลาที่เว็บไซต์เข้าถึงได้ มีความสำคัญต่อความน่าเชื่อถือของเว็บ ควรเลือกบริการที่มีการรับประกัน Uptime อย่างน้อย 99.9% และตรวจสอบรีวิวของลูกค้าเพื่อยืนยันว่าทำได้ตามที่โฆษณาไว้
5. ความปลอดภัย (Security)
ควรมีฟีเจอร์ด้านความปลอดภัย เช่น ใบรับรอง SSL, Firewall, เครื่องมือสแกนมัลแวร์ และการสำรองข้อมูลอัตโนมัติ เพื่อปกป้องข้อมูลของเว็บไซต์เรา
6. อินเทอร์เฟซการจัดการ (Management Interface)
ควรใช้งานง่าย และให้เข้าถึงเครื่องมือจัดการเว็บไซต์ได้สะดวก ส่วนใหญ่จะใช้ cPanel หรืออินเทอร์เฟซแบบกำหนดเอง เช่น hPanel
7. การสนับสนุนลูกค้า (Customer Support)
เลือกบริการที่มีการสนับสนุน 24/7 หรือตลอดเวลาพร้อมช่องทางการติดต่อหลายช่องทาง เช่น ไลฟ์แชท อีเมล และโทรศัพท์
8. ราคา (Pricing) และ บริการเสริม (Extras)
ตรวจสอบราคาเริ่มต้น ค่าใช้จ่ายต่อครั้ง และค่าใช้จ่ายในการต่ออายุ เพื่อให้เข้าใจค่าใช้จ่ายทั้งหมด และพิจารณาบริการเพิ่มเติม เช่น การจดโดเมน, อีเมลโฮสติ้ง และการออกแบบเว็บไซต์
9. ความสามารถในการขยาย (Scalability)
เลือกผู้ให้บริการที่มีแผนหลากหลาย เพื่อรองรับการเติบโตของเว็บไซต์ในอนาคต เช่น VPS, Dedicated และ Cloud Hosting เป็นต้น
บทสรุปของ เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting Conclusions)
สรุปได้ง่าย ๆ ว่าก่อนที่เราจะสร้างเว็บไซต์ได้ เราจำเป็นต้องมีพื้นที่เซิร์ฟเวอร์สำหรับเก็บเว็บไซต์ และวิธีการที่ง่ายที่สุดในการได้มาคือการเช่าพื้นที่จากบริษัทผู้ให้บริการ หรือที่เราเรียนรู้กันในวันนี้ก็คือ Web Hosting
การเลือกผู้ให้บริการโฮสติ้งควรพิจารณาประเภทของโฮสติ้งที่เหมาะสมกับความต้องการ และงบประมาณของเรา นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงฟีเจอร์ทางเทคนิคต่าง ๆ ที่ผู้ให้บริการเสนอให้ เช่น ระบบจัดการไฟล์ และมาตรการรักษาความปลอดภัย และที่สำคัญคือ ห้ามลืมตรวจสอบรีวิวของผู้ให้บริการโฮสติ้งที่สนใจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผู้ให้บริการ Web Hosting ที่เราสนใจนั้นเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมก่อนตัดสินใจเช่าใช้งานนั่นเอง
ที่มา : www.cnet.com
Leave a comment